วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เที่ยวศาลพันท้ายนรสิงห์


























    พันท้ายนรสิงห์สุดยอดของความซื่อสัตย์

    ช่วงวันแม่( 12 สิงหาคม 2556 )ไปทานอาหารกลางวันที่บางขุนเที่ยน ท่าข้าม  ร้านครัวยุพิน อร่อยมากครับ ก็เลยแวะไปเที่ยว ศาลพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร เป็นการย้อนอดีตกันหน่อย








       เมื่อไปถึง ศาลพันท้ายนรสิงห์ สิ่งแรกที่เห็นก็คือ  รูปปั้นไก่เต็มไปหมด ยังนึกแปลกใจอยู่ว่าไก่มาเกี่ยวข้องอะไรกับพันท้ายนรสิงห์ ตามที่เรียนมาก็ไม่ได้กล่าวถึง ทุกที่ทางขึ้นลงซ้ายขวา บริเวณรอบๆ ศาลก็เต็มไปด้วยไก่ ด้วยความสงสัยจึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่หน้าศาล ได้ความว่า รูปปั้นไก่เหล่านี้เขานำมาแก้บน  ใครบนอะไรไว้ ก็จะนำรูปปั้นไก่ มาแก้บน บางคนก็นำมาเป็น 100 ตัวก็มี ทำเช่นนี้สืบมาเรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมไก่ จึงวางเต็มไปหมด จากรูปปั้นไก่ธรรมดาๆ ก็พฒนาเป็น ไก่เงิน ไก่ทอง ไก่มั่งมี ไก่ศรีสุข ไก่ร่ำรวย ไก่ตัวใหญ่มาก ไก่ตัวเล็ก ฯลฯ แล้วแต่จะว่ากันไป




     ตามที่เรียนมา พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ได้รับ ยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ปรากฏ อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ.2246 - 2252 สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร)เพื่อทรงเบ็ด ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย
      พันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองอ่างทอง การเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรีในครั้งนั้น เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขามคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวังแต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสียจึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศรีษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป พระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน
      แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ 8 จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล แล้วทรงพระราชดำริว่าคลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดตรง เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า "คลองสนามไชย" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "คลองมหาชัย" ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้







                                                      เรือโบราณ